เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 5. มาณวปัญหานิทเทส 9. โตเทยยมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า บุคคลนั้นเป็นผู้มีปัญญา ในคำว่า บุคคลนั้นเป็นผู้มีปัญญา หรือว่า
ยังมีความดำริด้วยปัญญา ได้แก่ บัณฑิต มีปัญญา มีปัญญาเครื่องตรัสรู้ มีญาณ
มีปัญญาแจ่มแจ้ง มีปัญญาเครื่องทำลายกิเลส
คำว่า หรือว่ายังมีความดำริด้วยปัญญา อธิบายว่า หรือว่ายังดำริถึงตัณหา
หรือทิฏฐิ คือ ให้ความดำริถึงตัณหาหรือทิฏฐิเกิด ให้เกิดขึ้น ให้บังเกิด ให้
บังเกิดขึ้นด้วยญาณในสมาบัติ 8 ญาณในอภิญญา 5 หรือมิจฉาญาณ รวมความว่า
บุคคลนั้นเป็นผู้มีปัญญา หรือว่ายังมีความดำริด้วยปัญญา

ว่าด้วยพระผู้มีพระภาคชื่อว่าผู้สักกะ
คำว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สักกะ ในคำว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สักกะ ข้าพระองค์
จะพึงรู้จักพระมุนีได้อย่างไร อธิบายว่า พระผู้มีพระภาคผู้สักกะเสด็จออกผนวช
จากศากยตระกูล จึงชื่อว่าผู้สักกะ
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงมั่งคั่ง ทรงมีทรัพย์มาก มีทรัพย์ จึงชื่อว่าผู้
สักกะ
พระองค์ทรงมีทรัพย์เหล่านี้ คือ ทรัพย์คือศรัทธา ทรัพย์คือศีล ทรัพย์คือหิริ
ทรัพย์คือโอตตัปปะ ทรัพย์คือสุตะ ทรัพย์คือจาคะ ทรัพย์คือปัญญา ทรัพย์คือ
สติปัฏฐาน ทรัพย์คือสัมมัปปธาน ทรัพย์คืออิทธิบาท ทรัพย์คืออินทรีย์ ทรัพย์
คือพละ ทรัพย์คือโพชฌงค์ ทรัพย์คือมรรค ทรัพย์คือผล ทรัพย์คือนิพพาน
พระผู้มีพระภาคทรงมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีทรัพย์ด้วยทรัพย์ที่เป็นรัตนะหลายอย่าง
เหล่านี้ จึงชื่อว่าผู้สักกะ
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงสามารถ คือ ทรงองอาจ อาจหาญ มี
ความสามารถ กล้า กล้าหาญ ก้าวหน้า ไม่ขลาด ไม่หวาดเสียว ไม่สะดุ้ง ไม่หนี
ทรงละภัยและความหวาดกลัวได้แล้ว หมดความขนพองสยองเกล้า จึงชื่อว่าผู้สักกะ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :230 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 5. มาณวปัญหานิทเทส 9. โตเทยยมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สักกะ ข้าพระองค์จะพึงรู้จักพระมุนีได้อย่างไร
อธิบายว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สักกะ ข้าพระองค์พึงรู้ คือ พึงรู้ทั่ว รู้แจ่มแจ้ง
รู้เฉพาะ แทงตลอด พระมุนีได้อย่างไร รวมความว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สักกะ
ข้าพระองค์จะพึงรู้จักพระมุนีได้อย่างไร
คำว่า นั้น ในคำว่า ข้าแต่พระองค์ผู้มีสมันตจักขุ ขอพระองค์โปรดตรัส
บอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ให้แจ่มแจ้งด้วยเถิด อธิบายว่า ปัญหาที่ข้าพระองค์
ทูลถาม ที่ข้าพระองค์ทูลขอ ที่ข้าพระองค์ทูลอัญเชิญ ที่ข้าพระองค์ทูลให้ทรงประกาศ
คำว่า ขอพระองค์โปรดตรัสบอก (ปัญหานั้น) ให้แจ่มแจ้ง อธิบายว่า
ขอพระองค์โปรดตรัสบอก คือ แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย
ประกาศ
คำว่า ข้าแต่พระองค์ผู้มีสมันตจักขุ อธิบายว่า พระสัพพัญญุตญาณตรัส
เรียกว่า สมันตจักขุ ฯลฯ เพราะเหตุนั้น พระตถาคต ชื่อว่าผู้มีสมันตจักขุ1
รวมความว่า ข้าแต่พระองค์ผู้มีสมันตจักขุ ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นแก่
ข้าพระองค์ให้แจ่มแจ้งด้วยเถิด ด้วยเหตุนั้น พราหมณ์นั้นจึงกราบทูลว่า
บุคคลนั้นเป็นผู้ไม่มีความหวัง หรือว่ายังหวังอยู่
บุคคลนั้นเป็นผู้มีปัญญา หรือว่ายังมีความดำริด้วยปัญญา
ข้าแต่พระองค์ผู้สักกะ ข้าพระองค์จะพึงรู้จักพระมุนีได้อย่างไร
ข้าแต่พระองค์ผู้มีสมันตจักขุ
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้น
แก่ข้าพระองค์ให้แจ่มแจ้งด้วยเถิด
[60] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
บุคคลนั้นเป็นผู้ไม่มีความหวัง ทั้งไม่หวัง
บุคคลนั้นเป็นผู้มีปัญญา แต่ไม่มีความดำริด้วยปัญญา
โตเทยยะ เธอจงรู้จักบุคคลผู้ไม่มีเครื่องกังวล
ผู้ไม่ข้องในกามและภพว่าเป็นมุนี อย่างนี้ (4)

เชิงอรรถ :
1 ดูรายละเอียดข้อ 38/178-179

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :231 }